วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550
เจียง ไคเชก (ภาษาจีนกลาง: เจียง จุง-เช็ง : Chiang Kai-Shek, Chiang chung-cheng) เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2430 (ค.ศ. 1887) จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยของญี่ปุ่นและกลับมาเป็นขุนศึกค้ำบัลลังก์ของ ดร. ซุน ยัตเซน ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) รวมอายุได้ 88 ปี มีวันเกิดตรงกับวันปล่อยผีของฝรั่ง (Holloween) และมีวันตายตรงกับวันไหว้ผีของจีน (เชงเม้ง)
เป็นผู้นำของจีนระหว่าง พ.ศ. 2471 ถึง พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1928) ถึง (ค.ศ. 1949) ต่อมาได้ไปตั้งรัฐบาลจีนคณะชาติที่ไต้หวัน เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมอยู่ในการปฏิวัติ ปี พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) ต่อต้านรัฐบาลของหยวนซื่อไข่ และตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2461 (ค.ศ. 1918) ได้เข้าร่วมรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งของ ดร. ซุน ยัตเซน และเมื่อ ซุน ยัตเซน ถึงแก่อสัญกรรม ในปี พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1925) เจียง ไคเชกได้เป็นผู้นำพรรคแทน และพยายามรวบอำนาจในพรรคด้วยการกำจัดแกนนำพรรคคนอื่น ๆ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งด้วยอำนาจทหารและอำนาจเงิน โดยมีการต่อท่อสายสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น กระทั่งสามารถยกตนเองก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของจีนแผ่นดินใหญ่
เจียง ไคเชกย้ายที่ตั้งรัฐบาลไปอยู่เมืองหนานจิง (นานกิง) ซึ่งอยู่ใกล้กับภูมิลำเนาเดิมบ้านที่มณฑลเจ้อเจียง แต่จากปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวง และถูกซ้ำเติมด้วยการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นจนเกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า เป็นเหตุให้เกิดกลุ่มต่อต้านขึ้นมามากมายเพื่อโค่นล้มการปกครองของพรรคก๊กมินตั๋ง
กลุ่มที่สำคัญที่สุดคือ พรรคคอมมิวนิสต์จีน จงกว๋อก้งฉ่านต่าง โดยมีเหมาเจ๋อตุง เป็นแกนนำสำคัญของพรรคนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) จนกระทั่งกลายเป้นสงครามกลางเมือง ระหว่างปี พ.ศ. 2470 ถึง พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1927) ถึง (ค.ศ. 1937) และระหว่างปี พ.ศ. 2489 ถึง พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1946) ถึง (ค.ศ. 1949) แต่บางครั้งทั้งสองฝ่ายก็หันมาร่วมมือกัน เช่น ในสงครามจีน-ญี่ปุ่น ระหว่างปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) ถึงปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) และในสงครามโลกครั้งที่สอง
โดยในช่วงหลังปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) การทำสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ รัฐบาลเจียง ไคเชกเป็นฝ่ายแพ้ต้องอพยพไปตั้งรัฐบาลจีนคณะชาติที่ไต้หวันในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาด้วยดีตลอดมาจนถึงปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) จีนคณะชาติที่ไต้หวันถึงถูกถอดออกจากการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เปิดทางให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเป็นสมาชิกแทน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น