วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2550
จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (พระราชสมภพ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ - สวรรคต ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒) ทรงเป็นพระบรมราชชนก (พระบิดา) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์สมัยใหม่ของไทยเป็นอย่างมาก ประชาชนโดยทั่วไปมักคุ้นเคยกับพระนามเดิมว่า "กรมหลวงสงขลานครินทร์" ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า "เจ้าฟ้ามหิดล"
พระราชประวัติ
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ ๗ ใน สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ปีเถาะ ขึ้น ๓ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ตามปฏิทินเก่า, ถ้านับตามปฏิทินสากล ต้องเป็น พ.ศ. ๒๔๓๕) ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ
ในเบื้องต้น ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง และเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ หลังจากนั้นได้เสด็จไปศึกษาต่อในสหราชอาณาจักร พร้อมด้วยนักเรียนทุนหลวงในสมัยนั้นหลายพระองค์และหลายคนด้วยกัน และเข้าศึกษาในโรงเรียนแฮร์โรว์ (Harrow) ในกรุงลอนดอน อังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมนายร้อยปรัสเซีย ในเมืองพอทสดัม ประเทศเยอรมนี ตามพระประสงค์ของพระราชบิดา และศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยในกรุงเบอร์ลิน แล้วทรงเข้าศึกษาวิชาทหารเรือมือร์วิค ในเมืองเฟนส์บวก และทรงได้ออกแบบเรือดำน้ำประกวดจนได้รับรางวัล และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงได้รับยศนายเรือตรี ทั้งในกองทัพเรือแห่งเยอรมัน และแห่งราชนาวีสยาม
ขณะทรงศึกษา
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ (ค.ศ.๑๙๑๔) สมเด็จพระบรมราชชนกทรงลาออกจากกองทัพเรือเยอรมัน เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย เนื่องจากการอุบัติสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระองค์ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ในตำแหน่งสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารเรือได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท ตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘
หลังจากทรงศึกษาวิธีบริหารราชการจาก และระเบียบราชการทหารเรือ จากกรมเสนาธิการทหารเรือ ประมาณ ๔ เดือนแล้ว ก็ทรงย้ายไปรับตำแหน่งในกองอาจารย์นายเรือ แผนกตำรากรมยุทธศึกษาทหารเรือ
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ (ค.ศ. ๑๙๑๖) สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง และ ผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ทรงพิจารณาเห็นว่า โรงเรียนแพทย์อยู่ในฐานะล้าหลังมาก เมื่อเทียบกับโรงเรียนในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์ ดังนั้นทรงตกลงพระทัยที่จะปรับปรุงเป็นการใหญ่ แต่ก็ต้องประสบปัญหาว่าหาผู้ที่มีวิชามาเป็นอาจารย์ไม่ได้ จึงได้ทรงพยายามชักชวนผู้รู้มาร่วมงาน พร้อมทั้งได้ขอร้องให้กระทรวงธรรมการติดต่อกับมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ให้ช่วยจัดอาจารย์ในวิชากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยาและศัลยกรรมมา
หลังจากนั้นสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ได้เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนก ให้ทรงหันมาสนพระทัยการแพทย์ และสาธารณสุข ที่พระองค์ทรงได้เคยศึกษามา โดยพระองค์ทรงออกอุบายเชิญสมเด็จพ่อเสด็จประทับเรือยนต์ประพาสทางน้ำ ไปตามคลองบางกอกใหญ่ คลองบางกอกน้อย พอถึงปากคลองบางกอกน้อย จึงทูลเชิญขอให้ทรงแวะที่ศิริราชพยาบาล และเมื่อพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นโรงคนไข้ ซึ่งเป็นเรือนไม้หลังคาจาก มีที่ไม่พอรับคนไข้ มีคนไข้นั่งรอนอนรออยู่ตามโคนไม้ และขาดแคลนอุปกรณ์ทางแพทย์
สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงทราบถึงความยากลำบากและขาดแคลนของศิริราช ทรงสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง กรมพระยาชัยนาทนเรนทรจึงกราบทูลวิงวอนให้สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเข้ามาช่วยจัดการการศึกษาแพทย์ โดยมีสาเหตุดังนี้
และในที่สุดพระองค์ก็ทรงตกลงพระทัยที่จะทรงช่วยในการปรับปรุงการแพทย์ของประเทศไทย โดยจะเสด็จไปทรงศึกษาวิชาเฉพาะ เพื่อจะให้งานได้ผลจริงๆ และได้ดี
เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง ถ้าทรงเข้ามาจัดการเรื่องนี้จะทำให้กิจการแพทย์เด่นขึ้น มีผู้โดยเสด็จช่วยเหลืองานมากขึ้น
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงมีรายได้สูงเพียงพอที่จะใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลสาธารณะ
ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่มีพระปัญญาหลักแหลม มีความเพียรกล้า ทรงทำจริงไม่ย่อท้อ จะทำให้กิจการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว เสด็จนิวัติกลับประเทศ
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จเข้าศึกษาวิชาสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น พระองค์ทรงได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน ๒ ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกออกมา ปรากฏว่าได้นักเรียนพยาบาลมา ๒ คน คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และนางลิปิธรรม ศรีพยัตต์
สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนทั้ง ๒ ของพระองค์อย่างดี ทั้งทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ และทรงรับสั่งเตือนสติเสมอว่า
เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินของราษฏรเขาจ้างให้ออกมาเรียน ฉะนั้นเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี ให้สำเร็จเพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเหลือไว้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นี้ พระองค์ทรงใช้พระนามว่า มิสเตอร์มหิดล สงขลา เช่าอะพาร์ทเม็น ซึ่งมีเพียง ๔ ห้อง และมีคนใช้เพียงคนเดียว นับเป็นที่ชื่นชมของชาวอเมริกามาก ดังที่ได้เห็นจากบทความของ ดร. เอลลิส ว่า
ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ทรงเป็นเพียงนักเรียนแพทย์ผู้หนึ่งที่ไม่ใช่เจ้านาย ในพระนามบัตรก็มีว่า "มิสเตอร์มหิดล สงขลา" ใน เวลาที่ประทับอยู่ในประเทศที่ไม่มีเจ้านาย พระองค์ท่านก็ไม่ใช่เจ้านาย เราถือว่าการที่วางพระองค์เช่นนี้ เป็นการให้เกียรติยศอันแท้จริงแก่ประเทศของเราและสมกับพระลักษณะของการเป็นเจ้านายที่แท้จริง
ขณะทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขชั้นปีที่ ๓ ที่สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จกลับมาร่วมงาน ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง
เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ สมเด็จพระบรมราชชนกได้อภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ(สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)
ทรงศึกษาต่อ
เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๔ สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงสำเร็จการศึกษา และได้รับประกาศนียบัตรการสาธารณสุข ดังนั้นพระองค์พร้อมพระชายาจึงเสด็จยุโรปประทับที่เมืองเอดินเบอร์ก สก็อตแลนด์ ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับ มูลนิธิร็อกกี เฟลเลอร์ เกี่ยวกับการช่วยเหลือด้านการศึกษาวิชาแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งบรรลุผลสำเร็จให้กับรัฐบาลไทย ถึงแม้จะมีการเจรจากันหลายครั้งก็ตาม
การเสด็จสหราชอาณาจักรครั้งนี้ทรงตั้งพระทัยจะศึกษาวิชาแพทย์ให้จบ แต่เนื่องจากมีอุปสรรค ได้ประชวรด้วยโรคของพระวักกะ(ระบบปอด) ประกอบกับที่อังกฤษมีอากาศชื้นและหนาวเย็น ไม่เหมาะกับโรค ดังนั้นพระบรมราชชนกจึงต้องเสด็จนิวัติกลับพระนคร เพราะมีพระราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และรับตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๖
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘ สมเด็จพระบรมราชชนกพร้อมพระชายาและพระธิดาเสด็จยุโรป เพื่อไปศึกษาเรื่องแพทย์ต่อ โดยได้ทรงเลือกวิชากุมารเวชศาสตร์ และพระองค์ก็ได้ทรงเสด็จกลับเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น